รู้จัก Pyra ในบทบาทนักร้อง-โปรดิวเซอร์ และ CEO Karma X เพื่อช่วยศิลปินไทย
เราได้เห็นพีรลดา สุขวัฒก์ หรือ ‘Pyra’ ในฐานะนักร้องและโปรดิวเซอร์หญิงแนว Electronic Pop/R&B ที่ทำเพลงคุณภาพออกมาให้พวกเราได้ฟังกัน ยังไม่รวมที่เธอได้ไปร่วม Featuring และโปรดิวซ์เพลงให้กับศิลปินอื่นๆทั้งไทยและต่างประเทศอีกมากมาย ซึ่งนอกจากบทบาทในวงการเพลงอย่างที่หลายๆคนคุ้นเคย วันนี้เราจะได้ทำความรู้จักอีกบทบาทหนึ่งของเธอ ในฐานะ CEO บริษัท Karma X อีกด้วย
แรกเริ่มเราเข้าใจว่าเส้นทางดนตรีของ Pyra เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่ความจริงแล้ว แววศิลปินของเธอส่องประกายออกมาตั้งแต่เธออายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น
“ผลงานแรกปล่อยตอนอายุ 9 ขวบค่ะ ที่บ้านส่งไปเรียนมีฟ้า สถาบันดนตรีที่แกรมมี่เป็นเจ้าของ อาจารย์บอกแม่ให้อัดเทปลูกมาออดิชั่น ก็อัดไปแล้วเราได้ คืออัลบั้มวันแม่ที่มีพี่เบิร์ดเป็นศิลปินหลัก เพลงค่าน้ำนมก็เป็นเพลงที่เปิดจนถึงทุกวันนี้ ส่วนตอนอายุ 16 นั้นเป็นช่วงที่เริ่มโปรดิวซ์เพลง เมื่อก่อนอาจจะร้องเพลง เล่นกีตาร์ เล่นเปียโนได้ แต่ว่าตอนหลังมันไม่มีใครช่วยทำแต่เราอยากมีผลงาน ก็เลยต้องทำด้วยตัวเอง เรียนทำโปรดักชั่น ซื้ออุปกรณ์ Logic มาลองเทสต์ที่บ้าน”
เมื่อถามถึงความชอบหรือแนวทางการทำเพลงของเธอ ว่าเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหนตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ เธอตอบอย่างมั่นใจว่าความชอบในแนวดนตรีแจ๊สของเธอยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่แนวทางการทำเพลงต่างหากที่มีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ
“ความจริงพื้นฐานความชอบมันใกล้เคียงเดิม ชอบฟังแจ๊สมาตั้งแต่เด็ก แล้วช่วงที่ทำเพลงแรกๆตอน 16 ทำ R&B ตอนนี้เราก็ยังทำ R&B อยู่ แต่ว่าเป็น R&B สมัยใหม่ขึ้น ที่พิเศษมากขึ้นคือโปรดักชั่น สกิลมันดีขึ้นไปเรื่อยๆตามอายุ ก็สมควรที่จะพัฒนาไปเรื่อยๆ เห็นได้ชัดคือความแตกต่างของเพลงแรกที่เราทำ ทั้งเสียงร้อง ทั้งดนตรี ทุกอย่างจนถึงทุกวันนี้คือ quality มันดีกว่าเยอะมาก”
เราขอให้ Pyra แนะนำเพลงที่สื่อถึงความเป็นตัวเธอมากที่สุด 1 เพลงให้กับคนที่ไม่รู้จักเธอเลยได้ฟัง เธอเลือกเพลงที่พึ่งปล่อยอย่าง White Lotus ซึ่งมีเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพอเราได้ฟังเหตุผลของเธอจึงได้รู้ว่า แนวคิดในการทำเพลงนี้ของเธอทั้งใหม่และน่าสนใจมาก
“เราเรียนอินเตอร์มาตั้งแต่เกรด 1 เลยค่ะ ตอนที่ทำเพลงภาษาไทยคือบอกตามตรงว่าไม่ได้ทำเพราะอยากทำ แต่ทำเพราะคิดว่าเพลงภาษาอังกฤษมันไปต่อไม่ได้ แต่พอลองทำเพลงภาษาไทยเรากลับตันมากกว่าเพลงภาษาอังกฤษอีก เพราะสไตล์เรามันไม่มีตลาดในประเทศไทย คนที่สตรีมเพลงนี้มาจากประเทศใน South east asia ที่พูดภาษาอังกฤษค่ะ ดูจาก stats เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกงอะไรแบบนี้
เพลง White Lotus เหมือนได้พูดอะไรที่อยากพูดมากกว่า 8 เพลงก่อนที่ทำมา เราคิดถึงผู้ฟังว่าเขาอยากฟังอะไร แล้วเราก็ Compromise ให้มาเจอตรงกลาง แต่ตอนนี้เหมือนเรามีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ เลยพูดเรื่องที่มันลึกมาก คือเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ไม่ใช่ว่าเราเคร่งศาสนาพุทธ เราแทบจะไม่มีศาสนาอยู่แล้ว แต่อยากหยิบข้อที่ดีของศาสนาหลักของประเทศไทยมาพูด ที่คนส่วนใหญ่บูชา หรือ Practice กันอยู่เป็นเหมือนพุทธเชิงธุรกิจ มันก็ถูกต้องที่ทุกศาสนามีธุรกิจ เพราะไม่งั้นมันก็อยู่ไม่ได้ แต่ว่า Core value จริงๆของศาสนา ทุกคนที่เป็นชาวพุทธแทบจะไม่รู้ หรือว่าลืม เพราะคนแค่ไปทำบุญ จ่ายเงินให้พระมาไล่ผี มันเป็น Practice ที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินหมดเลย แต่ความจริงศาสนาพุทธสอนให้คนเดินทางสายกลาง มี Peace in your heart แต่เราเห็นคนพุทธหลายๆคนไม่ได้มี Peace in their heart เลย ”
สิ่งที่ Pyra บอกว่าทำให้เธอแตกต่างจากศิลปินหญิงแนว Electronic pop คนอื่นๆคือการที่เธอพยายามนำเสนอวัฒนธรรมของเราเอง โดยหวังว่าเพลงของเธอจะสามารถทำให้โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้
“Direction ของ EP ใหม่ที่เราวางไว้ Differntiate ตัวเองคือ หนึ่ง เพลงมันค่อนข้าง niche อยู่แล้วค่ะ เรียก genre นี้ว่า Solar soul แล้วรูปลักษณ์ที่ Portray ออกไปก็ต่างจากทุกคนในโลกนี้เลย อาจจะมีศิลปินที่หลุดๆ ติสท์ๆเหมือนกัน อย่างเช่น Björk ป้าเขาก็จะมีสไตล์ของป้าเขา (หัวเราะ) แต่รู้สึกว่าศิลปินแนวนี้ยังไม่มีใครที่นำความเป็นตัวเอง ความเป็นประเทศตัวเองออกมา ศิลปินฝั่งอเมริกาแทบจะเอาวัฒนธรรมเอเชียไปประยุกต์ใหม่หมดแล้ว แต่คนเอเชียยังไม่มีอะไรที่เอาของตัวเองไปนำเสนอ ขนาดฝรั่งเขายังมาขูด Culture เรา ทำไมเราไม่เอา Culture ตัวเองพรีเซนต์ออกไป”
หมายความว่า Solar soul คือการนำ Culture ของตัวเองมาทำเป็นเพลง?
“ใช่ค่ะ อันนั้นคือ หนึ่ง Represent สิ่งที่ตัวเองเป็น Proud to be Thai ด้วย สองคือ เพลงที่ผลิตออกไป ความเป็น Solar artist จะต้องพูดเรื่องที่มัน Influence ในทิศทางที่ทำให้โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปได้ในทางที่ดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่เพลง Mainstream ที่ดังๆจะพูดถึงเรื่อง ความรัก เซ็กส์ ยาเสพติด Capitalism อย่างเช่น นั่ง Lamborghini เปิดแชมเปญกัน ซึ่งมันไร้สาระมาก เราอยาก Lead movement นี้ที่ทำให้ศิลปินมาพูดเรื่องอะไรที่สำคัญจริงๆ เพราะคนที่มี Power to influence the mass ไพร่าเชื่อว่าควรมี Responsibility ที่จะนำเสนอให้ไปในทางที่อย่างน้อย เยาวชนน่าทำตาม ฟังแล้วพ่อแม่ชื่นใจที่ลูกฟังเพลงมีสาระ ไม่ใช่เฮ…ปาร์ตี้”
เมื่อถามความเห็นของเธอเกี่ยวกับ Art industry ของไทยว่าตอนนี้เป็นอย่างไร และมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปในทางไหน เธอบอกตรงๆเลยว่า การฟังเพลงของประเทศไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
“ตามตรงแล้วถ้าเทียบกับประเทศใน south east asia หรือใน asia เอง เป็นประเทศที่คนไม่กล้าลงตลาดด้วยซ้ำ ไพร่าพึ่งไปเจอ marketing director ของ sony music asia มาที่ฮ่องกง เขาก็บอกว่าแทบไม่เวิร์คในตลาดไทยเลย เหมือน market มันยาก การฟังเพลงของประเทศไทยยังไม่ได้พัฒนาเท่าประเทศอื่นด้วย ถ้าถามว่าเติบโตมั้ย มันคงเติบโตค่ะ หลังจากที่มี spotify หรือ apple music เข้ามา คนจะโดน push เพลงที่สร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งเพลงในวิทยุเข้ายากมากค่ะ ถ้าไม่ได้อยู่ค่ายที่จะมี partnership กับวิทยุอยู่แล้ว แต่การมี streaming service เข้ามาจะพัฒนา taste ได้อยู่ค่ะ”
หลังจากพูดคุยกับ Pyra ในฐานะนักร้องและโปรดิวเซอร์ไปแล้ว อีกมุมหนึ่งของเธอคือนักธุรกิจสาวที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อนศิลปินให้สามารถสร้างรายได้ในทางอื่นนอกเหนือจากการขายเพลง เราจึงอยากรู้ว่า บทบาทตรงนั้นของเธอคือทำอะไรบ้าง
“ไพร่าเป็น startup CEO ด้วย คือ Karma X เป็นบริษัทที่เรียกว่าช่วยเหลือ artist ให้สร้างรายได้ด้วยทางอื่น เมื่อเพลงมันขายไม่ได้ ไพร่าก็คิดว่าเราควรจะเลิกบ่นกันได้แล้วว่าเฮ้ย…ผู้บริโภคไม่สนับสนุนเลย ควรจะเลิกโทษคนอื่นแล้วกลับมามองตัวเองในฐานะศิลปินว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าขายไม่ได้ เราจะหาเงินทางอื่นยังไงดี
กระแสตอนนี้คือ Merchandise อย่างเช่น เห็นเสื้อทัวร์ Justin Bieber Purpose Tour ขายดีมาก ก็เลยทำบริษัทนี้ ซึ่งปกติทำเสื้อยืดธรรมดา แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาทำเป็น Artist collaboration โดย artist ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ส่งดีไซน์มา เราปริ้นท์ เอาขึ้นเว็บ ขาย และส่งให้ ใครที่อยากมี E-commerce business ทางด้านแฟชั่นมาปรึกษาเราได้ แต่เราเน้น artist”
เราเห็นว่ามีโปรเจคที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่ Pyra ทำ นั่นคือ Drinkartists จึงขอให้เธอเล่าให้ฟังว่าโปรเจคนี้คืออะไร และมันน่าสนใจอย่างไร
“Drinkartists จัดใต้บริษัทนี้ เป็นหนึ่งทางที่เราจะช่วยศิลปิน Core value ของบริษัทคือ Help artist monitized in other way ที่ไม่ใช่ Music หรือการ Painting บน canvas แล้วอีกหนึ่งทางคือการ connect ด้วย drinkartists นี่แหละค่ะ เราเห็นมันมี networking event ของนักธุรกิจเยอะมาก แต่ไม่มี networking event ของศิลปะเลย เรารู้สึกว่าที่ artist ไม่โตกันสักที หรือว่า follower ไม่เพิ่มขึ้น แฟนเพลงไม่เพิ่มขึ้น เพราะว่าไม่มี connection”
ซึ่ง Drinkartists ก็คืองานสำหรับศิลปินจะได้พบปะพูดคุยกับคนอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น ลูกค้า สปอนเซอร์ หรือพาร์ทเนอร์ โดยมีกิจกรรมต่างๆให้ทำร่วมกันนั่นเอง
เมื่อถามถึงผลลัพธ์ที่ได้หลังจากการจัด Drinkartists ครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาว่า Pyra พอใจกับผลลัพธ์ของตัวเองมากแค่ไหน เธอบอกเราตามตรงเลยว่า ความจริงแล้วเธอเป็นคนที่ค่อนข้างเข้มงวดกับตัวเองและไม่ค่อยพอใจกับสิ่งไหน แต่เมื่อได้ฟัง Feedback จากคนอื่นก็ทำให้ได้รู้ว่า งานนี้ออกมาดีกว่าที่คิดถึง 3 เท่า ซึ่งแน่นอนว่าเธอวางแผนที่จะจัด Drinkartists ครั้งที่ 2 และจะขยายไปที่สิงคโปร์ ฮ่องกง และเวียดนามภายในปีนี้
นอกจากโปรเจคต่างๆของเธอภายใต้ Karma X แล้ว ในปีนี้ก็กำลังจะมีผลงานเพลงออกมาให้แฟนๆได้ฟังกันอีกหลายชิ้นเลยทีเดียว หลังจากปล่อยซิงเกิ้ล White Lotus อกมาเป็นที่เรียบร้อย ในเดือนเมษายน Pyra กำลังจะปล่อยซิงเกิ้ลที่สองพร้อมเอ็มวี ก่อนเปิดตัว EP เต็มในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ชื่อว่า Better Human
ก่อนจบการสัมภาษณ์เราได้ขอให้ Pyra ฝากอะไรถึงศิลปินไทยสักหน่อย ซึ่งคำตอบของเธอนั้นก็ยังยืนยันกับแนวคิดในการทำเพลงเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นอย่างที่เธอได้กล่าวไว้ในตอนแรก
“อย่างที่บอกไป ส่วนตัวเราคิดว่าคนที่มี power ในการ influence คน สอนอะไรดีๆให้กับคนฟังบ้าง อะไรที่เขาเอาไปคิดต่อได้ อย่างคนที่ดาร์กมาก อยากฆ่าตัวตายมาก พอฟังแล้วเขามีพลังแล้วอยากสู้ชีวิตต่อ อยากให้มันมี value กับคนฟังจริงๆ”
เราไปลองฟังผลงานที่ผ่านมาของเธอได้เลยที่นี่: