Fungjai Awards 2017: งานประกาศรางวัลเพื่อชุมชนคนดนตรี ที่สร้างสรรผลงานดีในปี 2017
ในวันที่ 29 พฤจิกายน 2560 ณ Studio9 Show DC มีการจัด Exclusive Private Party ขึ้นโดยทีมงานฟังใจ เพื่อเป็นการขอบคุณนักดนตรีที่สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ตลอดทั้งปี และถือโอกาสขอบคุณผู้ฟังและสปอนเซอร์ที่คอยสนับสนุนฟังใจมาโดยตลอด นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 ของงานประกาศรางวัลจากฟังใจและครั้งนี้ยังเป็นโอกาสครบรอบ 3 ปีของคอมมูนิตี้สุดพิเศษนี้อีกด้วย โดยยังยึดเป้าหมายหลักอันเดิม นั่นก็คือการมอบรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เหล่าศิลปินผลิตผลงานดีๆ จากใจมาให้เราได้ฟังกันอีกนานๆ จากวันแรกที่ฟังใจเริ่มทำงานจนถึงวันนี้ ในเวลาสามปีมีอะไรเปลี่ยนไปเยอะแยะมากมาย จนผู้ก่อตั้งอย่าง คุณ ศรัณย์ ภิญญรัตน์ (ท๊อป) ยังต้องใช้เวลากว่าชั่วโมงในการ “โชว์ของ” ตอนพิธีเปิดงาน เราไปดูกันดีกว่าว่าทางทีมงานฟังใจคือใครและมีโปรเจกต์ทางด้านดนตรีเจ๋งๆ อะไรบ้าง
เกี่ยวกับฟังใจ
ฟังใจ คือชุมชนทางดนตรีที่เชื่อมศิลปินและแฟนเพลงทางเข้าด้วยกัน ผ่านแพลตฟอร์ม และกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ พวกเขาเชื่อในเสรีภาพทางการฟังและแต่งเพลงจึงพัฒนาระบบ Music Streaming ที่รวบรวมดนตรีของศิลปินและค่ายเพลงโดยไม่จำกัดค่ายไม่จำกัดแนวจากทั่วประเทศไทย ให้ทุกคนได้ฟังเพลงผ่าน Website และ Mobile Application อีกทั้งพวกเขายังมี Funjaizine ซึ่งเป็นนิตยสารออนไลน์ที่พูดถึงดนตรีอย่างกว้างขวาง ทั้งจากฝั่งศิลปินผู้ผลิตผลงาน และผู้ฟัง ด้วยรูปแบบการเล่าที่ไม่เหมือนใคร เปิดให้คุณเข้าถึงแง่มุมต่างๆ ในวงการดนตรีไทยได้มากกว่าที่เคย ท้ายที่สุดพวกเขามักจัดคอนเสิร์ตโดยคัดเลือกจากศิลปินหลากหลายค่ายและแนวดนตรีให้คุณได้ดูดนตรีจากพวกเขากันแบบสดๆ และได้ชิมรสชาติเฉพาะตัวของแต่ละศิลปินอย่างเต็มที่ ในคอนเสิร์ตอย่าง เห็ดสด, Tiger Jam, Borderless และ Behind the Band ที่ประสบความสำเร็จไปอย่างล้นหลามทุกครั้ง
นับตั้งแต่วันแรก ทางฟังใจก็มีผลงานธุรกิจย่อยต่างๆ นาๆ มาให้ผู้คนในวงการดนตรีไทยได้ตื่นเต้นกันอย่างไม่ขาดสาย ในงาน Fungjai Awards 2017 มีการจัดแสดงโปรเจกต์เหล่านี้อยู่ภายในและได้มีการพูดถึงอย่างละเอียดตอนพิธีเปิดงาน เราคัดสองโปรเจกต์เจ๋งๆ มาให้คุณได้ลองดูกันวันนี้
มาละมา คอลเล็กทีฟ
Malama Collective เป็นโครงการหนึ่งของฟังใจ ซึ่งต้องการสร้างทางเลือกใหม่ให้สำหรับวงดนตรีอิสระที่มีความสามารถ มีศักยภาพในการเติบโต แต่ปราศจากเงินทุน “Malama” ภาษาฮาวาย แปลว่า “ปกปักรักษา ดูแล ช่วยเหลือ” ร่วมกับคำว่า “Collective” ที่แปลว่า กลุ่มหรือชุมชนที่รวมตัวเพื่อคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ออกมาเป็น “ชุมชนคนดนตรีที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน”
Malama ไม่ใช่ค่ายเพลง แต่เป็นกลุ่มของศิลปินนักดนตรีที่สร้างผลงานเพลงของตัวเอง และมีความต้องการร่วมกันที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยที่ให้ศิลปินเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผลงานตนเองทั้งหมด ทั้งงานดนตรีกรรมและงานสิ่งบันทึกเสียง และหวังว่าศิลปินที่ออกไปจากกลุ่มแล้ว จะเหมือนเป็นการ "จบการศึกษา" คอร์สการจัดการดูแลวงดนตรีด้วยตนเอง และเจริญรุ่งเรืองในเส้นทางสายดนตรีต่อไปในอนาคต
เล่นสด
LENSOD.com กำลังค่อยๆ กลายเป็นผู้นำด้านการจองดนตรีสดในไทย เหล่านักดนตรีที่อยู่เบื้องหลังเชื่อมั่นในประสบการณ์ดนตรีสด เพราะไม่ว่ายุคสมัยแห่งดนตรีจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน "ดนตรีสด” ก็ยังคงเป็นอะไรที่จะอยู่คู่คนไทยไปตลอด ไม่ว่าใครหรือรุ่นไหนต่างก็ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างเหมือนจะมีให้เลือกโหลดออนไลน์ได้ง่ายๆ พวกเขายึดติดกับความคิดที่ว่า “ประสบการณ์ดนตรีสด นั้น ดาวน์โหลดไม่ได้”
หากคุณเป็นผู้จัดงานอีเว้นท์หรือร้านอาหารที่ชื่นชอบในการแสดงดนตรีสด คุณสามารถค้นพบวงดนตรีที่เค้าไม่มีทางรู้จักมาก่อน และได้รับประสบการณ์ดนตรีสดที่ดีที่สุดไปอย่างสะดวกสบายที่สุด หากคุณเป็นนักดนตรี สามารถสมัครขึ้นรายชื่อได้ง่ายๆ แล้วคุณอาจจะได้รับโอกาสในการแสดงฝีมือเล่นสดในสถานที่ที่คุณอาจจะคิดไม่ถึงก็ได้
บรรยากาศอันอบอุ่น, ผู้ชมที่ไม่ธรรมดา, และการแสดงสุดพิเศษ
พอเดินเข้า Studio9 ก็จะแปลกใจกับการจัดวางของห้อง ทุกอย่างช่างดูเรียบง่ายและแตกต่างจากคำว่า “Music Award” ที่มีอยู่ในหัวเป็นอย่างมาก ไม่ค่อยมีการตกแต่อะไรมาก แต่พอดูๆ ไปแล้วก็ไม่ได้ขาดอะไรเลย มีการจัดแสดงโปรเจคต์ของฟังใจอยู่มุมหนึ่ง มีอาหารและเครื่องดื่มอีกมุมหนึ่ง มีฉากไว้ถ่ายรูปเข้างาน และเวทีพร้อมเครื่องดนตรีครบครัน พอคนเริ่มเยอะก็สังเกตุได้ว่าเหมือนทุกคนจะรู้จักกันหมด มีการพูดคุยทักทายและอัพเดทกันราวกับเพื่อนสนิทที่ไม่ได้เจอกันนาน อีกอย่างที่น่าสนใจคือการแต่งตัว ศิลปินทุกท่านก็แต่งมาเต็มแบบไม่บอกใคร มีท่านหนึ่งลํ้ามาก ใส่ชุดกระโปรงมาพร้อมรองเท้าหนังแต่ใบหน้านี้หนวดเคราเฟิ้ม theme ของงานดูเหมือนจะมีกลิ่นอายของความ indie/retro อยู่ไม่น้อย ทำให้การใส่ชุดทำงานโปโลกางเกงยีนส์นี้ดูน้อยไปเลย
พอใกล้ถึงเวลาเปิดงาน ทุกคนต่างก็รีบไปคว้าอาหารรองท้องอีกสักจานและเติมเต็มความสดชื่นกับเครื่องดื่มตัวโปรดจาก mini bar ที่มีอยู่สองจุดด้วยกัน ที่นั่งหน้าเวทีนี้เก๋ไก๋อย่างบอกไม่ถูก มีการปูหญ้าเทียมอย่างเรียบร้อยพร้อมวางกล่องไม้และถังเหล็กจำนวนมากไว้ ให้ผู้ชมเลือกนั่งชิลหรือยืนชมงานได้ตามสะดวก อารมณ์ออกไปทางลานเบียร์ เพียงแต่อันนี้อยู่ในตึก ก็เท่ไปอีกแบบ
หลังจากการกล่าวต้อนรับจากผู้ก่อตั้งฟังใจเองแล้ว ก็ถึงเวลาสำคัญที่ทุกคนรอคอย มีการแสดงดนตรีสดสุดมันส์จากเหล่าผู้ชนะรางวัลของ Fungjai Awards 2016 ปีที่แล้ว อย่าง Telex Telexs, Lord Liar Boots, temp., และ Yena สลับกันไปกับการประกาศรางวัลไปเป็นช่วงๆ การประกาศรางวัลก็ไม่ธรรมดา แทนที่จะกล่าวผ่านไมค์ว่าใครชนะ ทางทีมงานใช้วิธีให้วงประจำงานคอยเล่นเพลงของผู้ชนะเป็นการอัญเชิญขึ้นเวทีแทน มองไปรอบๆก็เหมือนกับว่าจะมีแต่คนในวงการกับเหล่าศิลปินกันเอง แต่พอมีการประกาศรางวัลก็มีแต่เสียงปรบมือดีใจราวกับทุกคนในผู้ชมคือแฟนเพลงตัวยง พอถึงคราววงต่อไปขึ้นเวที ทุกคนก็ร้องไปเต้นไปราวกับอยู่ในคอนเสิร์ตของวงๆ นั้น ช่างเป็นชุมชนที่น่ารักและเป็นกันเองอย่างมาก ถึงเราจะไม่รู้จักวงดนตรีที่ขึ้นแสดงเลยสักวง แต่พอกลับถึงบ้านต้องมีเปิดเว็บฟังใจหาฟังอีกรอบเป็นที่แน่ๆ
รางวัลผลงานเพลง
Fungjai Awards 2017 จะมอบรางวัลให้กับผลงานประเภทต่างๆ ทั้งศิลปินอิสระและศิลปินที่สังกัดค่าย โดยยึดกติกาว่า ผลงานที่ได้รับคัดเลือกและเสนอชื่อจะต้องเป็นศิลปินที่มีเพลงหรืออัลบั้มเผยแพร่บนเว็บไซต์ fungjai.com ในช่วงเดือนตุลาคม 2016 ถึงเดือนตุลาคม 2017 เท่านั้น โดยรายชื่อรางวัลทั้งหมดในงาน Fungjai Awards 2017 มีทั้งหมดจำนวน 16 รางวัล แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ: Fungjai Awards (คัดเลือกจากทีมงานฟังใจผ่านการโหวตอย่างเป็นประชาธิปไตยจากพนักงานร่วม 40 ชีวิต), Popular Awards (คัดเลือกจากมหาชนคนฟังฟังใจ) และ Special Awards (ผลโหวตจากสื่อมวลชนและนักดนตรีที่มาร่วมกันโหวตในวันงาน)
น่าชื่นใจจริงๆ ที่ได้เห็นกลุ่มคนไม่น้อยให้ความสำคัญแก่ศิลปินนักดนตรีชาวไทยกันเอง ในยุคที่เพลงกลายเป็นของฟรี และศิลปินถูกลดค่าลงเรื่อยๆ ศิลปินต้องพยายามเพิ่มคุณค่าให้กับดนตรีมากขึ้น ไม่ว่าจะทำเพลงให้ดียิ่งขึ้น หรือการรวมตัวกันเป็นชุมชน เพื่อให้ตัวตนคนทำเพลงชัดเจนยิ่งขึ้น โดยที่เป้าหมายปลายทางของฟังใจคือการเห็นศิลปินนักดนตรีสามารถสร้างอาชีพในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง อย่าลืมเข้าไปดูเพจ Facebook และลองเข้าไปใช้ music streaming บนเว็บไซต์ของพวกเขาดู แล้วคุณก็อาจจะกลายเป็นอีกคน ที่สามารถเป็นกำลังใจอันมีค่าให้กับศิลปินชาวไทยเหล่านี้