ล้ง 1919 พบกับคุณค่าของบรรพบุรุษจีนโบราณ ที่ส่งต่อผ่านงานศิลปะและเสียงดนตรีร่วมสมัย
หากพูดถึงชาวจีนในประเทศไทย สิ่งเดียวที่นึกถึงได้คือความขยันหมั่นเพียรในการสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะการเข้ามาในประเทศไทยแบบ “เสื่อผืน หมอนใบ” นั้นเสมือนเป็นการลุยหมดหน้าตักครั้งสุดท้าย ไม่รวยก็ตาย มีทางเลือกแค่นั้น การทำงานหนักจึงเป็นหนทางเดียวในการพิสูจน์คุณค่าของตนเองในแผ่นดินผืนใหม่แห่งนี้
“ฮวย จุ่ง ล้ง” หรือแปลเป็นไทยว่า “ท่าเรือกลไฟ” นั้น เปรียบเสมือนพื้นที่รองรับก้าวแรกที่ได้เหยียบลงบนแผ่นดินสยาม ดินแดนแห่งโอกาสของชาวจีนโพ้นทะเล
“ซาน เหอ หยวน” อาคารก่ออิฐถือปูนพื้นไม้สัก ที่เรียงต่อกันเป็นรูปตัว U มีลานเอนกประสงค์อยู่ตรงกลาง ถูกใช้เป็นอาคารสำนักงาน โชว์รูมแสดงสินค้านำเข้าจากประเทศ และที่พักของคนงานชาวจีนในยุคที่เพิ่งทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกันใหม่ๆ
“ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว” ที่ทำให้ชาวจีนรู้สึกปลอดภัยทั้งขาไปและขากลับ ทั้งเข้ามาและออกไป
แต่ด้วยเวลาที่ล่วงเลยไปกว่า 160 ปี โกดังสังกะสี ปูนเก่า และไม้สัก ก็ทรุดโทรมตามกาลเวลา ฝุ่นผงหนาได้บดบังคุณค่าที่แท้จริงไว้หมดสิ้น จนกระทั่งเจอเนอเรชั่นล่าสุดของตระกูล “หวั่งหลี” ได้ใช้น้ำพักน้ำแรงของตนเองปัดฝุ่นผงออกไป เพื่อเผยให้เห็นคุณค่าของบรรพบุรุษอีกครั้งในชื่อ “ล้ง 1919 Heritage at Heart ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา”
ในยุคสมัยที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวในหนทางของตนเองได้ หลายๆคนก็ได้กลับมาเห็นในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ โรงแรมบูทีคที่มีพื้นผิวของอาคารเก่าเริ่มผุดขึ้นมาเรื่อยๆ การรื้อถอนอาคารเก่าเพื่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นตัวเลือกที่จำเป็นของหลายๆตระกูลที่มีที่ดินอยู่ติดแม่น้ำ แต่สิ่งที่ตระกูลหวั่งหลีมองเห็น คือพื้นที่สาธารณะ ที่จะให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้สร้างตัวตนในเส้นทางศิลปะและเสียงดนตรี โดยมีผลงานจากความขยันหมั่นเพียรของบรรพบุรุษชาวจีนเป็นฉากหลัง เป็นคุณค่าจากการทำงานหนักที่คนรุ่นใหม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากลงเรือข้ามฟากที่ตลาดคลองสาน เดินผ่านตลาดคลองสานออกมาแล้วเลี้ยวขวาขึ้นมาจนถึงถนนสมเด็จเจ้าพระยา เดินชมวิถีชีวิตชุมชนเก่าแก่ของฝั่งธนบุรีขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงซอยเชียงใหม่ มาถึงตรงนี้ก็จะเริ่มเห็นอาคารพานิชย์แบบจีนที่มี “ประตูบานเฟี้ยม” ประตูบานพับอันเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมจีน ซึ่งของ original จริงๆเริ่มเหลือน้อยลงทุกที เมื่อเดินเข้ามาจนสุดซอยก็จะพบอาคารแบบจีนตั้งอยู่ขวามือ ปูนเก่าและบานหน้าต่างให้ความรู้สึกคลาสสิคเหนือกาลเวลา พร้อมกับโลโก้ของโครงการ “ล้ง 1919” ที่วาดลงไปบนพื้นผิวโดยไม่รบกวนความขรุขระอันเป็นความงามที่เกิดจากกาลเวลาของที่แห่งนี้
การพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ ถูกคิดและวางแผนด้วยความคิดเพื่อการอนุรักษ์อย่างแท้จริง อะไรที่มีอยู่แล้วก็ซ่อมแซมให้แข็งแรงคงสภาพนั้นไว้ อะไรที่จะสร้างใหม่เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า ก็ทำออกมาได้อย่างกลมกลืนและสมฐานะ ลบความรู้สึกว่าที่นี่จะเป็นแค่ “ของใหม่ ทำเก่า” ไปหมดสิ้น เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากของเก่าและด้วยความเคารพในของเก่าอย่างแท้จริง เห็นได้จากจิตรกรรมฝาพนังตามขอบประตูและหน้าต่างอันเป็นผลงานของช่างฝีมือในยุคนั้นที่ถูกบูรณะซ่อมแซมโดยใช้สีและหมึกเหมือนกับที่ช่างในสมัยนั้นใช้จริงๆ และร้านอาหาร “Rong Si” ที่ใช้โครงสร้างเดิมของโกดังเก่าที่มีชื่อว่า “Wharf No.41” มาเป็นความสวยงามภายในร้าน
ในพื้นที่ลานเอนกประสงค์นั้นก็ถูกใช้อย่างที่ควรจะเป็นพื้นที่สีเหลี่ยมผืนผ้าที่ทอดยาวจากอาคารทรง ซาน เหอ หยวน จนถึงโกดังริมน้ำ เป็นพื้นที่ Outdoor อาคารและโกดังที่ล้อมรอบ ถ้าหากรู้สึกเหนื่อยอยากพักแข้งพักขาล่ะก็ ให้หยิบเครื่องดื่มแก้วโปรดของคุณมานั่งเหม่อไปกับสายน้ำและแสงไฟที่บริเวณท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง ได้โดยที่ยังได้ยินเสียงจากเวทีทุกเม็ด
แนะนำให้ไปในช่วงใกล้ๆพระอาทิตย์ตกดิน คุณจะได้พบกับร้านรวงในโครงการที่เปิดเต็มที่ในเวลานั้น บรรยากาศยามเย็นแสนโรแมนติก และอากาศที่ไม่ร้อนจนน้ำแข็งในกาแฟเย็นจะละลายเร็วเกินไป
คุณสามารถไป ล้ง 1919 ได้อยู่หลายเส้นทาง:
1. นั่งเรือ:
ทาง ล้ง 1919 มีบริการ Shuttle Boat ให้คุณใช้ได้อย่างสะดวกสบาย เพียงมองหาเรือที่มี โลโก้ ล้ง 1919 ตาม ท่าเรือสี่พระยา หรือ ท่าเรือสาธร มันก็จะไปคุณไปสู่ ท่าเรือหวั่งหลีในเพียงไม่กี่อึดใจ
2. นั่งรถไฟฟ้า BTS:
สถานี BTS ที่ใกล้ที่สุดคือ สถานี กรุงธนบุรี จากตรงนั้นคุณสามารถเลือกนั่ง taxi หรือ รถเมล์ (สาย 84,3 ต่อ สาย 6 ลง โรงพยาบาล สมเด็จเจ้าพระยา) ก็ได้
3. นั่งรถ:
หากคุณขับรถไป บอกไว้ก่อนว่าที่จอดรถมีไม่มาก สามารถจอดได้ฟรีชั่วโมงแรก และจะคิดเพิ่ม 50 บาท ต่อเศษชั่วโมงถัดมา หากคุณใช้บริการถึง 500 บาท สามารถแสตมป์บัตรจอดรถได้ ฟรี 3 ชั่วโมง