ย้อนวันวานไปกับ 10 หนังไทยฟีลกู๊ด สร้างแรงบันดาลใจจากยุค 2000s
มาปลุกพลังและเติมไฟในชีวิตกับลิสต์หนังไทยฟีลกู๊ดจากยุค 2000s ที่จะช่วยทำให้คุณยิ้มออกและมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น
ขึ้นต้นทศวรรษใหม่มาได้ไม่นาน ก็ดันมีเหตุการณ์สุดวิสัยที่ทำให้หลายคนต้องใช้ชีวิตเก็บตัวอยู่ที่บ้านกันแบบยาว ๆ และอีกหนึ่งผลกระทบในวงการภาพยนตร์ก็คือเหล่าบรรดาหนังฟอร์มใหญ่หลาย ๆ เรื่องที่มีแผนจะชนโรงในช่วงเดือนมีนาคม ลากยาวไปจนถึงหนังรับซัมเมอร์ทั้งหลาย ต่างต้องพากันขยับวันฉายออกไปกันแบบไม่มีกำหนด
สำหรับคอหนังชาวไทยก็คงจะหงอยไปตาม ๆ กัน และต้องหันหน้ามาพึ่งช่องสตรีมมิ่งอย่าง Netflix หรือ YouTube แก้ขัดอยู่ที่บ้านไปก่อน ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่บ้านเหงา ๆ และเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายและหมดแพสชั่น เราเข้าใจดี เราขอชวนคุณมาปลุกพลังและเติมไฟในชีวิตกับลิสต์หนังไทยฟีลกู๊ดจากยุค 2000s ที่นอกจากจะทำให้คุณได้ย้อนวันวานไปดูคุณภาพและความสำเร็จของวงการภาพยนตร์ไทยในยุคนั้นแล้ว เราเชื่อว่าหนังหลาย ๆ เรื่องที่เราคัดสรรมา น่าจะทำให้คุณยิ้มออก หรือไม่ก็มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตได้ไม่มากก็น้อย
อย่ารอช้า เชิญไปพบกับลิสต์ 10 ภาพยนตร์ไทย feel good สร้างแรงบันดาลใจจากยุค 2000s กันได้เลย (เรียงลำดับตามปีที่ออกฉาย)
สตรีเหล็ก The Iron Ladies (ปี 2000)
เริ่มต้นกันที่ภาพยนตร์จากค่ายไท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ผลงานกำกับโดยยงยุทธ ทองกองทุน ออกฉายในปี 2000 สตรีเหล็กเป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์จริงของทีมวอลเล่ย์บอลชายล้วน ที่ผู้เล่นในทีมเกือบทั้งหมดเป็นเพศที่สาม ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วถือว่าเป็นหัวข้อที่ยังไม่เปิดกว้างเหมือนในปัจจุบัน
สตรีเหล็กเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟอร์มทีมวอลเล่ย์บอลที่สมาชิกในทีมทั้งหมดเป็นเพศที่สาม ยกเว้นชัย ซึ่งเป็นชายแท้คนเดียวในทีม(รับบทโดยติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี) หนังเล่าเรื่องในสไตล์คอมเมดี้และแทรกด้วยดราม่าเกี่ยวกับครอบครัวและความรักที่มักมาพร้อมอุปสรรคสำหรับชาวเพศที่สาม ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นหนังที่ทำให้สังคมเปิดใจรับมุมมองใหม่จากเพศที่สามมากขึ้น
หลังจากภาพยนตร์แนวดราม่าคอมเมดี้เรื่องนี้เข้าฉายก็ประสบความสำเร็จทั้งบู๊และบุ๋น เพราะนอกจากจะกวาดรายได้ไปแบบมโหฬารเกือบหนึ่งร้อยล้านบาทแล้ว ยังเดินสายคว้ารางวัลจากงานเทศกาลหนังจากต่างประเทศมากมาย แถมยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มสร้างภาพยนตร์แนวกีฬาและเกี่ยวกับเพศที่สามในประเทศไทยอีกด้วย
แฟนฉัน (ปี 2003)
หนึ่งในหนังไทยระดับตำนานที่เป็นกระแสโด่งดังในปี 2003 แฟนฉันเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกจากการร่วมงานกันของ 3 บริษัทดังในยุคนั้นอย่าง จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์, ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และหับ โห้ หิ้น ฟิล์ม กำกับการแสดงโดยกลุ่ม 365 ฟิล์มซึ่งเป็นการรวมตัวของ 6 ผู้กำกับหน้าใหม่ที่บางคนกลายมาเป็นผู้กำกับแถวหน้าของเมืองไทยในเวลาต่อมา ยกตัวอย่างชื่อที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นหูดีอย่างช่น เอส คมกฤษ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องเพื่อนสนิท, ย้ง ทรงยศ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน, ต้น นิธิวัฒน์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องคิดถึงวิทยา, ปิ๊ง อดิสรณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ
แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์แนวโรแมนติก-คอมเมดี้ เล่าเรื่องของรักแรกในวัยเด็กผ่านความทรงจำของเจี๊ยบ หนึ่งในตัวละครหลักที่เล่าถึงน้อยหน่า สาวน้อยผมเปียข้างบ้าน และหนังยังพาคนดูย้อนรำลึกไปถึงอดีตในวัยเด็ก การเล่นของเด็ก ๆ ในละแวกบ้านในสังคมต่างจังหวัด แถมด้วยการสอดแทรกมุกตลกผ่านกลุ่มนักแสดงเด็กที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีเสน่ห์และเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ยังครองใจคนดูมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ แฟนฉันยังเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุดในปี 2003 ด้วยรายได้กว่า 137 ล้านบาท และนั่นเป็นที่มาของการรวมตัวกันของ 3 บริษัทดัง และกลายมาเป็น จีเอ็มเอ็ม ไท หับ หรือ จีทีเอช (GTH) ที่หลายคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดีในปัจจุบัน
โหมโรง (ปี 2004)
อีกหนึ่งภาพยนตร์ไทยน้ำดีเจ้าของรางวัลใหญ่จากงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 14 ในปี พ.ศ. 2547 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (อดุลย์ ดุลยรัตน์), บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และยังได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์ตัวแทนจากประเทศไทยในการเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในการประกาศรางวัลอะแคเดมี่ประจำปี 2004 อีกด้วย
หนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากประวัติของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เรื่องราวเกี่ยวกับระนาดเอก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอกของไทย ไทม์ไลน์ในภาพยนตร์แบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกันคือสมัยรัชกาลที่ 5 นายศรในวัยหนุ่มผู้ถ่ายทอดฝีมือตีระนาดจากบิดาและผ่านการดวลระนาดแพ้-ชนะมานับครั้งไม่ถ้วน จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปถึงในพระราชวัง และได้รับการอุปถัมป์ให้เป็นนักดนตรีประจำราชสำนัก และอีกช่วงคือ สมัยของท่านครูศรในวัยชราในช่วงยุคของรัชกาลที่ 8
นอกจากจะได้รับชมความงดงามของการเล่นเครื่องดนตรีไทยแล้ว หนังยังสอดแทรกเหตุการณ์ทางการเมืองในยุคสมัยนั้นขณะที่บ้านเมืองกำลังเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงประเทศให้มีความทันสมัย มีการกวดขันปรับปรุงวัฒนธรรมของไทยให้เทียบเท่าอารยะธรรมตะวันตก และออกระเบียบควบคุมศิลปะแขนงต่าง ๆ รวมทั้งดนตรีไทย เราเชื่อว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้คุณรู้สึกรักและภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้ไม่มากก็น้อย
มหา’ลัย เหมืองแร่ (ปี 2005)
ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือชื่อ เหมืองแร่ เขียนโดยศิลปินแห่งชาติ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งเล่าเรื่องราวของตัวผู้เขียนเอง ผลงานกำกับโดยผู้กำกับมือทอง เก้ง จิระ มะลิกุล ที่ควบตำแหน่งผู้อำนวยการผลิตไปด้วย หลังจากพยายามหว่านล้อมในการขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือดังกล่าวเพื่อมาสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่นานจนคุณอาจินต์ผู้เขียนใจอ่อน จนเป็นที่มาของหนังคุณภาพอย่างมหา’ลัย เหมืองแร่
หนังเล่าถึงชีวิตในช่วงวัยหนุ่มของอาจินต์ ปัญจพรรค์ หลังจากถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และถูกแฟนสาวทิ้ง เขาได้ตัดสินใจเดินทางไปภาคใต้ เพื่อมุ่งหน้าไปทำงานที่เหมืองกระโสม ในอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และทำงานในเรือขุดสายแร่ดีบุก ซึ่งในขณะนั้น ธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกในไทยเป็นช่วงที่เฟื่องฟูมาก และเป็นที่มาของเรื่องราวในมหา’ลัยชีวิต ตลอดเวลาเกือบ 4 ปีที่อาจินต์ผ่านร้อน ผ่านหนาว และเรียนรู้คุณค่าของชีวิตในแบบที่ไม่มีหลักสูตรตำราใดสามารถมาแทนที่ได้
ในแง่ของรายได้ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ในด้านรางวัล หนังเรื่องนี้กวาดรางวัลในไทยแทบทุกสถาบัน อย่างเช่น รางวัลใหญ่แห่งปีอย่างรางวัลสุพรรณหงส์ ประจำปี 2549 ในสาขารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (สนธยา ชิตมณี), บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม รวมทั้งยังได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 78 สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
ซีซั่นส์เชนจ์ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (ปี 2006)
ภาพยนตร์วัยรุ่นโรแมนติกอีกเรื่องจากค่าย GTH กำกับโดยนิธิวัฒน์ ธราธร หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน อำนวยการสร้างโดยเก้ง จิระ มะลิกุล ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์มือทอง และยังได้เพลงคลาสสิคตลอดกาลอย่าง ฤดูที่แตกต่าง ขับร้องโดย นภ พรชำนิ มาเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์อีกด้วย
ตัวหนังถ่ายทอดชีวิตในวัยมัธยมปลายของสามตัวละครหลัก ป้อม อ้อม และดาว กับความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาหนึ่งปี ในระหว่างที่ทั้งสามศึกษาที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลผ่านมุมมองและการเล่าเรื่องของป้อม (รับบทโดย บอล วิทวัส สิงห์ลำพอง) ที่ปิดเรื่องการเรียนเตรียมดนตรีจากพ่อที่คาดหวังให้เขาเรียนเตรียมแพทย์ ไหนจะยังเรื่องการเลือกโรงเรียนตามสาวที่แอบชอบ ตั้งแต่การเล่าเรื่องที่สอดแทรกมุกตลกอยู่เรื่อย ๆ ไปจนถึงฉากฝนตกที่เคล้ากับเสียงดนตรีออเคสตราคลาสสิค ถือว่าเป็นจุดเด่นที่ทำให้หนังฟีลกู๊ดเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังไทยที่ยังมีคนพูดถึงจนถึงทุกวันนี้
กระแสของหนังเรื่องนี้ในยุคนั้นถือว่าใหญ่พอตัว เพราะบรรดานักแสดงนำต่างก็ได้ชื่อ Seasons Change ติดไปเป็นนามสกุลในวงการกันอยู่พักใหญ่ และนอกจากจะได้ใจคนดูที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นแล้ว หนังเรื่องนี้ยังคว้าถึง 4 รางวัลจากงานรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2549 สาขารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม,ลำดับภาพยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ก้านกล้วย (ปี 2006)
ก้านกล้วยเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันแบบสามมิติเรื่องแรกของไทย (หลังจากปังปอนด์และสุดสาคร ซึ่งเป็นแอนิเชันสองมิติ) หนังได้แรงบันดาลใจมาจากบางส่วนของพงศาวดารเกี่ยวกับช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก้านกล้วยเป็นแอนิเมชันที่กำกับโดยคมภิญญ์ เข็มกำเนิด คนไทยที่ไปศึกษาต่อในด้านแอนิเมชันที่ประเทศอเมริกา และยังเคยร่วมงานกับบริษัทระดับโลกอย่างวอลท์ดิสนีย์ และบลูสกายสตูดิโอ
ก้านกล้วยเป็นแอนิเมชันที่ยังคงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมความเป็นไทย เช่น การคล้องช้าง การละเล่นของเด็กสมัยโบราณ ไปจนถึงการใช้ฉากเป็นหมู่บ้านทรงไทย อีกทั้งทีมผู้ให้เสียงพากย์ก็เป็นทีมนักแสดงที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น ภูริ หิรัญพฤกษ์ ผู้ให้เสียงเป็นก้านกล้วยในวัยหนุ่ย, จุ๋ย วรัทยา นิลคูหา ผู้ให้เสียงเป็นชบาแก้ว ไปจนถึงศิลปินแห่งชาติอย่าง รอง เค้ามูลคดี และจุรี โอศิริ
นอกจากจะเป็นหนังที่ผู้ใหญ่ดูได้และเด็กดูดี ซึ่งในปีที่ออกฉาย ก้านกล้วยทำรายได้ไปเกือยหนึ่งร้อยล้านบาท ซึ่งถือว่าเกินความคาดหวังของหนังแอนิเมชันเลยทีเดียว แถมกระแสนอกโรงยังแรงไม่แพ้กันกับปรากฏการณ์ก้านกล้วยฟีเว่อร์ที่มีการขายตั้งแต่ตุ๊กตายันพวงกุญแจลายก้านกล้วยแทบทุกห้างเลยทีเดียว
365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (ปี 2007)
ภาพยนตร์แนวสารคดีจากค่าย GTH ที่ตามเหล่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 คนในระหว่างเตรียมเข้าสอบมหาวิทยาลัย ซึ่งในปี 2548 เป็นปีแรกที่มีการเปลี่ยนระบบจากการสอบเอ็นทรานซ์ มาเป็นระบบการสอบแอดมิดชันส์แทน กำกับโดยผู้กำกับหญิงมากความสามารถ แอน โสรยา นาคะสุวรรณ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นหลัก ที่ซึ่งหนุ่มน้อยทั้งสี่ เปอร์, ลุง, โบ๊ท และบิ๊กโชว์ศึกษาอยู่ โดยไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ แต่อย่างใด หนังถ่ายทอดความมุ่งมั่นและความพยายามของเหล่านักแสดงนำทั้งสี่ที่ต้องการสอบเข้าคณะในฝันของตัวเอง ในขณะที่ทุกคนก็ยังมีความต้องการใช้ชีวิตของวัยรุ่นให้เต็มที่ และยังต้องเผชิญกับความกดดัน ความคาดหวังจากครอบครัว
นอกจากนั้น หนังเรื่องนี้ยังถือเป็นจุดแจ้งเกิดของเปอร์ สุวิกรม อัมระนันทน์ ซึ่งในปัจจุบัน เปอร์เป็นพิธีกรฝีมือดีอีกคนหนึ่งของวงการบันเทิงไทยอีกด้วย
หนีตามกาลิเลโอ (ปี 2009)
เรื่องราวของสองเพื่อนซี้ นุ่นและเชอรี่ ที่ทั้งสองก็ต่างมีปัญหาชีวิตของตัวเอง นุ่นที่เพิ่งจะเลิกกับแฟนมาสด ๆ ร้อน ๆ และเชอรี่ที่โดนพักการเรียน 1 ปีเต็มเพราะปลอมลายเซ็นอาจารย์ เพื่อนซี้คู่นี้จึงตัดสินใจไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกันที่ประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี เพื่อออกไปค้นหาตัวเอง โดยตลอดการเดินทางทั้งนุ่นและเชอรี่ได้ตักตวงทั้งความสุข ไปจนถึงพบเจอกับอุปสรรคมากมาย
หนังเรื่องนี้กำกับโดยต้น นิธิวัฒน์ ธราธร ซึ่งเป็นการกำกับภาพยนตร์เดี่ยวเรื่องที่สอง ต่อจากซีซั่นส์เชนจ์ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทีมนักแสดงนำทั้งสาม เต้ย จรินทร์พร, ต่าย ชุติมา และเรย์ แมคโดนัลด์ ต้องเดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ยุโรปเป็นเวลา 2 เดือนเต็ม
หนีตามกาลิเลโอถือว่าเป็นหนังเกี่ยวกับเพื่อนและการเดินทางอีกเรื่องที่ซึ้งกินใจคนดูหลาย ๆ คน และฉากสุดคลาสสิคที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ฉากที่ต้น (รับบทโดยเรย์ แมคโดนัลด์) ชูป้ายกลางถนนฌ็องเซลิเซ่ ในกรุงปารีส ส่วนด้านรายได้ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควร ทำรายได้ไปกว่า 30 ล้านบาท
รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (ปี 2009)
หนังแนวโรแมนติก-คอมเมดี้ขึ้นหิ้งอีกเรื่อง GTH ที่น้อยคนจะไม่รู้จักความโก๊ะของสาวโสดวัย 30 อย่างเหมยลี่ ที่รับบทโดย คริส หอวัง และความหล่อทะลุแป้งของลุง ที่รับบทโดยพระเอกขวัญใจชาวไทยอย่างเคน ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ ภาพยนตร์รถไฟฟ้ามาหานะเธอเป็นผลงานกำกับโดยปิ๊ง อดิสรณ์ หนึ่งในทีมผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน
หนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับเหมยลี่ สาวโสดชาวไทยเชื้อสายจีนวัย 30 ปีที่ไปตกหลุมรักลุง หนุ่มวิศวกรรถไฟฟ้า ตลอดทั้งเรื่องคนดูก็ได้ฟินไปกับความตลกของเหมยลี่ และลุ้นตัวโก่งไปกับเธอว่าเธอจะได้ตกร่องปล่องชิ้นกันลุงสุดหล่อหรือไม่ บรรยากาศของหนังไม่ได้หวือหวามาก แต่ก็ให้ความรู้สึกที่อบอุ่นสไตล์แอบรัก
ด้านความสำเร็จก็เรียกว่าครบทั้งเงิน ทั้งกล่อง ด้วยรายได้เปิดตัวในวันแรกที่สูงถึง 15.1 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายได้เปิดตัวสูงสุดของปีนั้น เบียดหนังฟอร์มดีอีกเรื่องของ GTH อย่างห้าแพร่งไปแบบเฉียดฉิว ในส่วนของรางวัลก็ได้รับรางวัลจากหลายสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคริส หอวังที่ก้าวเข้าสู่อาชีพนักแสดงเต็มตัวด้วยการคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ ประจำปี 2552
ความสุขของกะทิ (ปี 2009)
ความสุขของกะทิ เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับครอบครัวที่สร้างขึ้นจากนวนิยายในชื่อเดียวกัน ผลงานจากปลายปากกาของ งามพรรณ เวชชาชีวะ หนึ่งในนักเขียนและนักแปลคนดังชาวไทย โดยนวนิยายเรื่องสั้นนี้ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2549 ก่อนจะถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 2552 กำกับโดยเจนไวยย์ ทองดีนอก
หนังเล่าเรื่องของกะทิเด็กหญิงวัย 9 ขวบที่กำลังจะต้องสูญเสียแม่ จากอาการป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในขณะที่คนเป็นแม่รู้ตัวว่าไม่สามารถเลี้ยงดูลูกสาวได้ จึงได้ฝากให้ตากับยายเช่วยเลี้ยงดูกะทิ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดระบบสังคมของไทยไปด้วยในตัว ที่หลาย ๆ ครอบครัวยังคงมีการพึ่งพาปู ย่า ตา ยาย ในการช่วยเลี้ยงดูบุตร กะทิมีคุณตาที่เคยเป็นทนาย และคุณยายที่ค่อนข้างเคร่งครัดและหัวโบราณ ซึ่งทุกคนรอบตัวกะทิได้ช่วยดูแลกะทิต่อจากแม่ที่ได้ฝากความรัก ความเอาใจใส่ไว้ให้กะทิ ถึงแม้จะจากไปก่อนวัยอันควร
หนังพาคุณรำลึกไปถึงวัยเด็กที่หลายคนอาจจะเคยได้ใช้เวลาอยู่กับญาติผู้ใหญ่ รวมไปถึงการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายของคนชนบทที่ถ่ายทอดในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ให้ความรู้สึกที่อบอุ่นใจตามสไตล์หนังฟีลกู๊ด