13 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ รอบ MRT 4 สถานีใหม่ ย้อนรอยย่านเก่าพระนคร
พาไปเช็กอิน 13 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ ตามแนวรถไฟฟ้าMRT 4 สถานีใหม่ใจกลางพระนคร ชมประวัติศาสตร์-ศิลปะ ย้อนรอยอดีตเมืองเก่า
เขตพระนครของกรุงเทพฯ เป็นย่านเมืองเก่าที่ยังคงรักษากลิ่นอายเดิมๆในยุคก่อร่างสร้างเมืองไว้ได้อย่างดีเยี่ยม การเดินทางสัญจรไปยังสถานที่ต่างๆรอบกรุงรัตนโกสินทร์ ยังต้องอาศัยการขนส่งแบบดั้งเดิมคือ รถยนต์, รถโดยสารประจำทาง, รถรับจ้าง หรือเรือ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เราพลาดสถานที่ดีๆ ที่ต้องซอกแซกไปตามตรอกซอกซอย ณ ย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้
แต่ในที่สุดระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยที่สุดแห่งยุคอย่าง ‘รถไฟฟ้า’ ก็มาถึงยังย่านเก่าที่เราคุ้นเคย กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลำโพง-หลักสอง ในเฟดแรกที่เปิดให้บริการ 5 สถานี เชื่อมต่อฝั่งธนบุรีระหว่างสถานีวัดมังกร-สถานีท่าพระ รวมระยะทาง 5.4 กิโลเมตร ซึ่งเปิดให้ทดลองนั่งฟรียาวๆ 2 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 29 กันยายน 2562
โดยในเส้นทางสายใหม่นี้มี 4 สถานีหลักๆ ที่ถูกออกแบบอย่างสวยงามเข้ากับบรรยากาศรอบๆสถานี ไม่ว่าจะเป็น สถานีวัดมังกร, สถานีสามยอด, สถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ ที่ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆออกมาได้อย่างงดงาม
การมาถึงของเส้นทางแห่งความสุขนี้ นอกจากเชื่อมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้ด้วยกัน พร้อมพาเราไปเยี่ยมชมโบราณสถานเก่าแก่ที่ชาวไทยและต่างชาติรู้จักกันดีอย่างวัดพระแก้ว, วัดโพธิ์ ฯลฯ ได้อย่างสะดวกสบายกว่าวันวานที่ผ่านมาแล้ว ยังอาจพาเราไปยังจุดหมายปลายทางที่ย้อนไปสู่อดีตและทำให้เรารู้จักย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้มากยิ่งขึ้น อย่างการไปเที่ยวสโลไลฟ์ ณ พิพิธภัณฑ์ ที่รายล้อมอยู่ทั่วมุมพระนคร
เพื่อต้อนรับมาถึงของรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ เราจึงขออาสาพาทัวร์ ชมไฮไลท์ความอลังการใน 4 สถานีแลนมาร์คยอดฮิต พร้อมแจกพิกัดพาทุกคนย้อนเวลาไปกับ ‘13 พิพิธภัณฑ์’ ใจกลางพระนครที่น่าไปเยี่ยมเยือนในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้
สถานีวัดมังกร
เริ่มต้นกันที่ ‘สถานีวัดมังกร’ ที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบสถานีอย่างย่านเยาวราชสุดๆ การออกแบบและตกแต่งภายในผสานกลิ่นอายไทย-จีนไว้อย่างลงตัว บรรยากาศอลังการด้วยสีแดง-ทอง ไม่ว่าจะเป็นผนัง, เสา หรือเพดาน ล้วนแล้วแต่ใช้สีแดงเป็นพื้น
รอบๆสถานีมีการนำมังกรอันถือเป็นสัตว์มงคลมาวาดประดับสลับกับลวดลายดอกบัวจีนอย่างสวยงาม อันได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถานที่สำคัญใกล้เคียงอย่างวัดมังกรกมลาวาสหรือ ‘วัดเล่งเน่ยยี่’ วัดชื่อดังที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 140 ปี จากการตีความหมายคำว่า ‘เล่ง’ ในภาษาจีนแต้จิ๋วที่แปลว่า มังกร คำว่า ‘เน่ย’ แปลว่า ดอกบัว และคำว่า ‘ยี่’ แปลว่าวัด
จุดไฮไลต์ของสถานีนี้ที่ไม่ควรพลาดคือ มังกรสีทองราวกับมีชีวิตที่พาดลงมาจากเพดาน บริเวณจุดจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติบริเวณทางออก 1 และทางเดินบันไดที่มีเพดานลักษณะคล้ายท้องมังกร ณ ทางออก 2
ไม่ไกลจากสถานีวัดมังกร เราสามารถเดินลัดเลาะชุมชนตรงไปยัง 3 พิพิธภัณฑ์ต่อไปนี้ได้
บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเมืองเจริญไชย
พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเมืองเจริญไชย ตั้งอยู่ในตึกเก่าห้องที่ 32 ตรอกเจริญกรุง 23 ใกล้กับวัดมังกรกมลาวาส ซึ่งเดิมห้องนี้เคยเป็นที่พักของคณะงิ้วจีนที่เคยรุ่งเรืองในอดีต
ปัจจุบันเปิดเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาของชุมชนเจริญไชยที่มีมานานกว่า 100 ปี เพื่อให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนจีน รวมถึงเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในเขตเยาวราช ผ่านมุมต่างๆ ที่ถูกจัดสรรพื้นที่ไว้เป็นอย่างดี
ภายในแบ่งเป็นโซนที่น่าสนใจ 2 ชั้น มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของคณะงิ้วจีน ทั้งเครื่องแต่งกาย, อุปกรณ์ ส่วนชั้นล่างมีเครื่องใช้สมัยก่อนที่ชาวบ้านในชุนชมร่วมกันบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ เช่น ทีวีเก่า, เครื่องเล่นแผ่นเสียง, โต๊ะทำงาน ฯลฯ รวมถึงมุมวิชาการให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีจีน เช่น พิธีแต่งงาน หรือเทศกาลงานไหว้ต่างๆ ที่มีการจัดโต๊ะจำลองไหว้พระจันทร์ที่ถูกต้องให้ชมกันด้วย
พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช
ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของพระมหามณฑป วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนเข้ามายังประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ประวัติความเป็นมา วัฒนธรรม ประเพณีความเชื่อต่างๆ ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งแบ่งอออกเป็น 6 ห้อง
เริ่มจากห้องแรกที่กล่าวถึงการเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทยของชาวจีนในชุมชนสำเพ็งและเยาราช ก่อนจะกำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325-2394) และการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเล จนสำเพ็งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯในยุคนั้น ซึ่งส่วนนี้จะจัดแสดงอยู่ในห้องที่ 2
โดยในแต่ละห้องจะเล่าเรื่องราว ผ่านการจำลองบรรยากาศในรูปแบบต่างๆ ทั้งหุ่นจำลอง ภาพวาดบนผนัง, โมเดลจิ๋ว ให้เราได้ทำความรู้จักและศึกษาเกี่ยวกับชุมชนและวิถีชีวิตของชาวจีนโดยง่าย ซึ่ง 1 ใน 6 โซนนั้นเราจะได้เห็นภาพถนนเยาวราชยุคเฟื่องฟูในปีพ.ศ.2500 ที่เรียกได้ว่าขณะนั้นเป็นยุคทองเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นย่านที่เจริญ ทันสมัยและมีแหล่งบันเทิงครบครันที่สุด
พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร หรือศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช เปิดให้เข้าชมฟรี (ชาวต่างชาติ 140 บาท) วันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
หอศิลป์กรุงไทย
ใครที่ชื่นชอบเสพงานศิลปะ ย่านเยาวราชก็มีแกเลอรี่ร่วมสมัยอย่าง ‘หอศิลป์กรุงไทย’ แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ที่จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ที่นี่เป็นจุดนัดพบและพื้นที่แบ่งปันศิลปะ
ตัวแกเลอรี่ตั้งอยู่ในอาคารเก่าสาขาเยาวราช ซึ่งเคยเป็นอาคารสำนักงานใหญ่แห่งแรกของธนาคารกรุงไทย มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส สวยงามและเก่าแก่อายุกว่า 70 ปี ก่อนจะรีโนเวทกลายเป็นพื้นที่แห่งศิลปะในปัจจุบัน
ภายในจัดแสดงผลงานศิลปกรรมสะสม ซึ่งมีงานศิลปะที่น่าสนใจมากมาย อาทิ งานจิตรกรรม, ภาพพิมพ์, สื่อประสม และประติมากรรม รวมทั้งหมดกว่า 250 ชิ้น นอกจากนั้น ณ บริเวณชั้น 3 ยังเปิดเป็นพื้นที่ให้ศิลปินต่างๆ ผลัดกันเข้ามาจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ให้ผู้เข้าชมได้มีผลงานศิลปะเชยชมกันแบบจุใจอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
หอศิลป์กรุงไทยเปิดให้เข้าชมฟรี วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. และวันเสาร์ 10.00-17.00 น. ปิดทำการวันอาทิตย์, วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดธนาคาร
พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน
มาถึงพิพิธภัณฑ์ที่เราจะได้ชมบรรยากาศจำลองการรักษาผู้ป่วยเมื่อประมาณ 85 ปีที่แล้วได้อย่างใกล้ชิดและเห็นภาพมากที่สุดกับ ‘พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน’ ที่ตั้งอยู่ในตึกเก่าสีเหลืองสไตล์นีโอคลาสสิกและปัลลาเดียน โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ ณ หัวมุมถนนเจริญกรุงตัดแยกเสือป่า
โดยพิพิธภัณฑ์เล่าย้อนไปเมื่อปีพ.ศ.2475 ที่ตึกหลังนี้เคยเป็นคลินิกรักษาผู้ป่วยในชื่อ ‘ห้างขายยาเบอร์ลิน’ โดยนายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ หลังเรียนจบด้านการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยสัญชาติเยอรมัน ในนครเซี่ยงไฮ้ (ปัจจุบันคือ Tongji University) ก็ได้เริ่มเปิดคลินิกรักษาชาวบ้านในย่านเจริญกรุง-เยาวราช ซึ่งถือเป็นคลินิกเอกชนแห่งแรกๆ จนเป็นที่รู้จักในขณะนั้น เนื่องจากคุณธรรมและความเสียสละของคุณหมอ ที่ยินดีรักษาคนไข้ทุกคนแม้บางคนไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาก็ตาม
แม้ทุกวันนี้จะไม่มีห้างขายยาเบอร์ลินแล้ว แต่ภายในพิพิธภัณฑ์ได้จำลองห้องรักษาคนไข้ในคลินิก ที่มีอุปกรณ์การแพทย์สมัยก่อน, ตำรับตำราเก่าๆ, มุมปรุงยา แบบเสมือนจริงประหนึ่งหลุดออกมาจากภาพถ่ายเก่าๆที่จัดแสดงไว้ พร้อมนิทรรศการที่บอกเล่าประวัติของนายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ ตลอดจนบทบาทสำคัญของห้างขายยาเบอร์ลินในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเส้นทางการพัฒนาสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ บริษัท เบอร์ลิน ฟาร์มาซูติคอล ผู้ผลิตยาชั้นนำในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. เว้นวันจันทร์ปิดทำการ 1 วัน
สถานีสามยอด
อีกหนึ่งสถานีที่ทำการบ้านมาได้อย่างยอดเยี่ยม สำหรับ ‘สถานีสามยอด’ เพราะเพียงแค่ตัวอาคารสถานีก็สามารถกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับบ้านเรือนในย่านวังบูรพาได้อย่างแนบเนียนแล้ว หากเราเดินผ่านเผินๆ โดยไม่ทันได้สังเกตป้าย สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งนี้ก็ราวกับเป็นอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีสสุดเก่าแก่หลังหนึ่งในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 เลยทีเดียว
ผนังโดยรอบบริเวณทางเข้า-ออกสถานีมีการทำเป็นประตูบานเฟี้ยมซึ่งเป็นรูปแบบของประตูในสมัยเก่าเพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่และคงความคลาสสิกในยุคนั้นไว้ ซึ่งเมื่อเดินลงไปยังชั้นชานชลาก็จะพบกับภาพประวัติศาสตร์ที่ช่วยเติมเต็มจินตนาการภาพในอดีตให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นถูกจัดแสดงไว้มากมาย ให้ผู้โดยสารได้เดินดูแก้เบื่อกันไปเพลินๆระหว่างรอรถไฟมาอีกด้วย
จากสถานีสามยอด เราสามารถเดินชมย่านเก่าวังบูรพา ก่อนจะไปเยี่ยมเยือน 3 พิพิธภัณฑ์ที่อยู่ละแวกใกล้เคียงดังนี้
พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์
‘พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์’ อาจจะวัดใจผู้เข้าชมกันสักนิด เพราะจุดประสงค์การจัดแสดงนิทรรศการ(ที่อาจจะดูน่ากลัวและหลอนไปบ้าง) ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เพื่อต้องการเตือนใจเราทุกคน ให้ละเว้นการกระทำความผิดและเคารพกฎหมาย
โดยพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ตั้งอยู่ในสวนสมรณีนาถ หรือที่ผู้คนเรียกกันติดปากว่า ‘คุกเก่า’ เนื่องจากในอดีตพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นที่ตั้งของเรือนจำแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2435 ในสมัยรัชกาลที่ 5
แม้ภายหลังพื้นที่บางส่วนจะปรับปรุงเป็นสวนสาธาณะ แต่ยังคงอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างเก่าตามสภาพเดิมไว้ทั้งซุ้มประตู, หอคอยประจำการ, กำแพงสูง และอาคารแดน9 เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นลักษณะและบรรยากาศของเรือนจำที่เคยมีอยู่จริง
โดยในส่วนพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นกลุ่มอาคารต่างๆ 4 หลัง จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของราชทัณฑ์ไทย ไปจนถึงวิธีการลงทัณฑ์นักโทษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านสื่อต่างๆทั้งบทความบรรยาย, วิดีทัศน์, หุ่นจำลองสมจริง รวมถึงการนำเครื่องไม้เครื่องมือที่เคยใช้จริง ไม่ว่าจะเป็น ดาบเพชฌฆาต, แท่นปืน, หลักประหาร ฯลฯ มาจัดแสดงให้ชมกันอย่างเข้มข้นทุกตารางนิ้ว
พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์เปิดให้เข้าชมฟรี วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดเสาร์-อาทิตย์)
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม
‘พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่’ หรือ กุฏิสุนทรภู่ ในวัดเทพธิดาราม คือพื้นที่อนุรักษ์และจัดแสดงอัตชีวประวัติของ ‘สุนทรภู่’ มหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้มีชื่อเสียงก้องโลก ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ว่าเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก เมื่อปีพ.ศ.2529 ในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิด 200 ปีของสุนทรภู่
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ จำพวกเครื่องอัฐบริขาร ขณะที่สุนทรภู่ออกบวช ซึ่งท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดและกุฏิแห่งนี้ และเนื่องจากหลักฐานเรื่องถิ่นกำเนิดของสุนทรภู่ยังคงเป็นที่ถกเถียง กุฏิ ณ วัดเทพธิดารามแห่งนี้ จึงเปรียบเสมือนบ้านหลังเดียวที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกไว้ชัดเจนที่ยังหลงเหลืออยู่ จึงได้เกิดเป็นพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ห้องย่อยๆที่จะบอกเล่าเรื่องต่างๆตั้งแต่เส้นทางชีวิต, ผลงาน จวบจนท่านบวชเป็นพระภิกษุ นอกจากนี้ยังมีโซนให้ผู้เข้าชมได้เพลิดเพลินไปกับการเรียบเรียงบทร้อยกรอง, คำประพันธ์ของสุนทรภู่ ไม่ว่าจะเป็น กลอน, กาพย์, โคลง, นิราศ ที่ทั้งสนุกและท้าทายความสามารถในเวลาเดียวกัน
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
บำรุงชาติสาสนายาไทย (บ้านหมอหวาน)
‘บำรุงชาติสาสนายาไทย’ สถานที่ซึ่งรวบรวมเรื่องราวของ ‘หมอหวาน รอดม่วง’ แพทย์แผนโบราณ เจ้าของสูตรยาหอมเลื่องชื่อ ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5-8 ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
โดยในอดีต ณ อาคารเก่าแก่สไตล์โคโลเนียล ย่านเสาชิงช้า แห่งนี้เคยเป็นทั้งบ้านและสถานที่ปรุง ‘ยาแผนโบราณ’ ของหมอหวาน ที่ยังคงสืบทอดต่อกันมาถึงรุ่นหลานมากกว่า 4 ชั่วอายุคนจวบจนปัจจุบัน
ภายในตัวอาคารยังเต็มไปด้วยโบราณวัตถุนานาชนิด ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีต ตลอดจนสูตรยาหอมโบราณกว่า 100 ปีทั้ง 4 ตำรับของหมอหวาน ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต และยังคงได้รับการถ่ายทอดกรรมวิธีและกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ด้วยเครื่องมือโบราณที่ใช้ในการปรุงยาให้ลูกค้าเก่าแก่มากกว่า 100 ปี
นอกจากจะได้ชมตำรับตำรายาเก่าแบบเพลิดเพลินแล้ว ที่นี่ยังมียาหอมและยาไทยวางจำหน่ายให้เราได้เลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านกันไปอีกด้วย
บำรุงชาติสาสนายาไทย หรือบ้านหมอหวาน เปิดให้เข้าชมฟรีวันเสาร์ และ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
สถานีสนามไชย
เมื่อมาถึงยัง ‘สถานีสนามไชย’ เราต้องขอบอกเลยว่าสวยงามสมการรอคอยสุดๆ และอาจกล่าวได้ว่าความอลังการงานสร้างนั้นสถานีนี้ถือเป็นไฮไลท์ที่สุดในบรรดา 4 สถานี ด้วยการตกแต่งชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารอย่างวิจิตรงดงาม มีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่บางคนนิยามว่าสถานที่แห่งนี้จำลองมาจาก ‘ท้องพระโรง’
ขณะที่ผนังโดยรอบสถานีก็ตกแต่งอย่างกลมกลืนกับสถานที่สำคัญโดยรอบอย่าง วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง มีการจำลองเป็นกำแพงเมืองสีขาวยาวตลอดแนว อีกทั้งสถานีสนามไชยยังเป็นสถานีเพียงหนึ่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตชั้นในสุดของเกาะรัตนโกสินทร์
พื้นที่โดยรอบสถานีสนามไชย เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ซึ่งมี 4 พิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจดังนี้
มิวเซียมสยาม
เพียงขึ้นจากทางออกที่ 1 ของสถานีสนามไชย ก็จะพบกับทางเข้า ‘มิวเซียมสยาม’ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ แบบพอดิบพอดี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยถือเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกที่สร้างความแปลกใหม่ ลบภาพการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่ฟังดูน่าเบื่อไปอย่างสิ้นเชิง ภายใต้แนวคิด ‘Play + Learn = เพลิน’ ที่จะทำให้ทุกการเรียนรู้ สนุกกว่าที่คิด
ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าวิวัฒนาการของสยาม มีนิทรรศการถาวรชุด ‘ถอดรหัสไทย’ บอกเล่าผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งโมเดลจำลอง, สื่อวิดีทัศน์ ที่ทำให้ดูน่าสนใจและเข้าถึงผู้เข้าชมโดยง่าย
อีกทั้งยังมีโซนให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่างๆมากมาย ทั้งแปลงโฉมเป็นเจ้าขุนมูลนาย, ย้อนวัยใสเป็นเด็กนักเรียน หรือห้องเล่นเกมลับสมองประลองปัญญา ให้เราได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าพร้อมๆไปกับการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างไม่มีเบื่อ
มิวเซียมสยามเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. เว้นวันจันทร์ปิดทำการ 1 วัน โดยมีอัตราค่าเช้าชม นักเรียน/นักศึกษา 50 บาท, ผู้ใหญ่ 100 บาท และชาวต่างชาติ 200 บาท (เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี, ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าฟรี)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถือเป็นไฮไลท์ที่เราต้องหาโอกาสไปเยี่ยมเยือนสักครั้ง เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นับเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2402 เพื่อจัดแสดงข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ชาติไทย, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยา
โดยแต่เดิมที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เคยเป็น ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ หรือวังหน้า ภายในจึงประกอบไปด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักที่เป็นสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม อาทิ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์, พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ และพระตำหนักแดง ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ที่น่าสนใจและควรค่าแก่การศึกษาให้ได้ชมกันอย่างตระการตา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร) อัตราค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท และชาวต่างชาติ 200 บาท
พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ
บริเวณด้านหน้าอาคารที่ทำการกระทรวงกลาโหมอันสง่างามตามสถาปัตยกรรมแบบนีโอ-ปัลลาเดียนคือ ‘พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ’ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่จัดแสดงปืนใหญ่ที่เคยผ่านสมรภูมิสงครามในยุคต่างๆตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งหมด 40 กระบอก
โดยถูกนำมาตั้งไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นโบราณวัตถุที่แสดงถึงแสนยานุภาพที่ครั้งหนึ่งในอดีตปืนใหญ่เหล่านี้ได้รับการขนานฉายาว่าเป็น ‘ราชาแห่งสนามรบ’ เนื่องจากประสิทธิภาพการทำลายล้างสูง สามารถยิงระยะไกล ใช้เป็นอาวุธโจมตีศัตรูและปกป้องราชอาณาจักร
หนึ่งในปืนที่มีความโดดเด่นที่สุดคือ ‘ปืนพญาตาณี’ ปืนใหญ่โบราณที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ขนาด 6 เมตร 82 เซนติเมตร ซึ่งถือเป็นปืนที่ทรงประสิทธิภาพที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
อีกกระบอกคือ ‘ปืนใหญ่นารายณ์สังหาร’ ปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ด้วยขนาดลำกล้องกว้างถึง 29.3 เซนติเมตร เป็นปืนใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ส่วนปืนใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดคือ ‘ปืนใหญ่อัคนิรุท’ ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2167 ที่ประเทศสเปน รวมอายุจวบจนปัจจุบันเก่าแก่กว่า 390 ปี
ใครที่สนใจประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ของชาติไทย ไม่ควรพลาดที่จะไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากได้ชมปืนใหญ่อันน่าเกรงขาม เราจะได้ทั้งความรู้และซีนภาพเท่ๆ ที่มีฉากหลังเป็นอาคารหลังงามที่สร้างบรรยากาศย้อนยุคได้อย่างลงตัวอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณเปิดให้เข้าฟรี วันจันทร์-ศุกร์ 2 รอบต่อวันคือรอบแรกเวลา 12.00-12.30 เริ่มลงทะเบียน 11.30 น. และรอบที่สองเริ่มชม 19.00-19.30 น. โดยเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 18.30 น.
ไปรสนียาคาร
ย้อนอดีตไปสู่ยุคแรกของการสื่อสารไทย ที่พิพิธภัณฑ์ ‘ไปรสนียาคาร’ ณ บริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้าฯ เขตพระนคร อนุสรณ์สถานแห่งกาลเวลาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีตของการไปรษณีย์สยามประเทศ ตั้งแต่เริ่มกิจการเมื่อปีพ.ศ.2426 ซึ่งในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศ
ภายในจัดนิทรรศการย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์ไปรษณีย์ที่อยู่คู่สังคมไทยมาตลอด 136 ปี ตั้งแต่ประวัติการดำเนินกิจการไปรณีย์ไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงมีสิ่งของเก่าแก่ที่น่าสนใจจัดแสดงมากมาย อาทิ ตราไปรษณียากรชุดแรก, ไปรษณียาบัตรใบแรก หรือแสตมป์ที่ระลึกเพื่อการสะสมต่างๆ
ทั้งนี้อาคารไปรสนียาคารหลังเก่าถูกทุบทิ้งเมื่อปีพ.ศ.2525 เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างสะพานพระปกเกล้าฯ ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานอยู่ทางทิศใต้ของสะพานพุทธ โดยอาคารหลังปัจจุบันได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิม ในตำแหน่งใกล้เคียงกับที่ตั้งเดิมเมื่อปีพ.ศ.2546 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมครั้งแรกในวาระครบรอบ 150 ปี จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือ สมเด็จวังบูรพา (พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย) เมื่อปีพ.ศ.2552
ใครที่สนใจเรื่องราวของไปรษณีย์ไทยหรืออยากมาเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมที่สวยงามของตึกไปรสนียาคาร สามารถเข้าชมได้ทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 12.00-20.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สถานีอิสรภาพ
มาถึงสถานีสุดท้ายที่เรามีโอกาสได้ไปเยือน นั่นก็คือ ‘สถานีอิสรภาพ’ ที่มีความสวยงามไม่แพ้ทั้ง 3 สถานีก่อนหน้า แถมยังได้รับการบันทึกเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกในพื้นที่ฝั่งธนบุรีอีกด้วย โดยตัวสถานีตั้งอยู่ระหว่างซอยอิสรภาพ 23 ถึง ซอยอิสรภาพ 24
การตกแต่งภายในชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร ก็เข้ากับทำเลโดยรอบพื้นที่อย่างวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร โดยได้นำภาพ ‘หงส์’ สัญลักษณ์ประจำวัด มาประดับตกแต่งอยู่ตามเสา พร้อมตกแต่งด้วยไฟสีเหลืองทองอร่าม สวยโดดเด่นสะดุดตา เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสถานีที่เราจะไม่พลาดมีรูปสวยๆอวดโซเชียลอย่างแน่นอน
ฝั่งธนฯ ก็มีอดีตที่น่าไปทำความรู้จักเช่นกัน ในครั้งนี้เราขอแนะนำ 2 พิพิธภัณฑ์ที่สามารถเดินทางจากตัวสถานีอิสรภาพไปได้ไม่ยาก
พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน
ทำความรู้จัก ‘ชุมชนกุฎีจีน’ ย่านเก่าแก่ของฝั่งธนบุรี ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ผ่านพิพิธภัณฑ์ชุมชนชื่อ ‘พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎจีน’ แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มเข้ามาตั้งรกรากอยู่แถบริมแม่น้ำเจ้าพระยา จนกลายเป็นย่านชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรรมที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ณ ขณะนี้เลยก็ว่าได้
ภายในพิพิธภัณฑ์จะบอกเล่าทั้งด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา และอาหาร โดยแบ่งโซนไว้ทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านกาแฟเหมาะนั่งพักเหนื่อยสบายๆ ชั้นสองแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมา ส่วนชั้นสามเป็นห้องจำลองบรรยากาศชุมชนชาวกุฎีจีนในอดีต และชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้าที่สามารถมองเห็นบรรยากาศโดยรอบชุมชนกุฎีจีน
ไปเยือนที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากได้ความรู้แล้ว เส้นทางระหว่างเดินทางเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์เราจะได้พบกับร้านของกินและขนมโบราณให้ได้ชิมกันอย่างเพลิดเพลินอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-18.00 น. (ปิดวันจันทร์) เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
บ้านเอกะนาค (ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษา)
ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์บ้านเอกะนาคคืออาคารทรงไทยกึ่งยุโรปหรือที่เรียกว่าเรือนไทยทรงปั้นหยา ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 รวมมีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี เจ้าของบ้านเดิมคือพระยาประสงค์สรรพการ (ยวง เอกะนาค) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น
ปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้มีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมและอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์หรือ ‘ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษา’ เพื่อเป็นคลังความรู้ที่เก็บรวบรวมข้อมูลด้านวัฒนธรรมของกรุงธนบุรี แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฝั่งธน ตลอดจนอนุรักษ์บ้านหลังเก่าไว้ให้คนรุ่นหลังได้มาเยี่ยมชมศึกษา
บ้านเอกะนาคตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย